ตอนเรียนดำน้ำ ครูก็สอนอยู่ว่าดำยังไงก็ได้อย่าให้ติด Decom จนวันนึง ผมก็พลาดจนได้ จะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ
Dive Computer อุปกรณ์ความปลอดภัยใกล้ ๆ มือ
Dive computer อุปกรณ์ดำน้ำสำคัญอันดับแรก ถ้าจะซื้อเป็นของตัวเอง เพราะถ้าไม่มี Dive computer นี้นี่จะรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไร ต่อให้ดำตามไดฟ์ลีดก็ตาม เพราะเคยเจอมาแล้วว่า ไดฟ์ลีดเค้ามี No Deco Time (NDL) มากกว่าเรา เรามีน้อยกว่า สิ่งที่เราต้องทำก็คือการขึ้นสู่ที่ตื้นกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูกระแสน้ำด้วยนะครับ ไม่ใช่อะไร ๆ เอะอะ ๆ ก็ขึ้น ไม่ดีครับ อันตราย มาเข้าเรื่องกันดีกว่าว่าผมติดดีคอมได้ยังไง
เกาะบอนแห่งความทรงจำ
ทริปนี้ผมมาสิมิลัน Liveabroad เป็นครั้งแรก วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการดำน้ำที่นี่ ดำสองวันทั้งหมด 6 ไดฟ์ครับ เช้านี้ประเดิมด้วยการสู้กระแสน้ำเบา ๆ ก่อนรอบ ๆ เกาะ เป็นไดฟ์แรกของวัน น้ำก็ไม่ได้ใสอะไรมากมายครับ อ้อ ไดฟ์นี้เป็นไดฟ์ที่ 29 ของ Advanced Adventurer ของผม วันก่อนหน้าก็ดำน้ำมาจำนวน 3 ไดฟ์แล้ว
10 โมงเช้าความโหดเริ่มบังเกิด
หลังจากพักน้ำ และทานข้าวเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับความหวังว่าจะได้พบกับแมนต้าเรย์ หรือฉลามวาฬ ไดฟ์เป็นไดฟ์ที่นี้วางแผนกันว่าจะไปดำที่หัวเกาะกัน แต่ความยากคือ มันมีกระแสน้ำนะ ลงไปแล้ว ต้องรีบลงข้างล่างเลย เดี่ยวปลิว
พอโดดลงน้ำปุ๊บ ผมก็พยายามลงให้เร็วที่สุด มีเพื่อน ๆ นักดำน้ำคนอื่นๆ ลงมาด้วยเหมือนกัน แต่เหมือนพวกเขาลงได้เร็วกว่าผม เลยผมลงไปข้างล่างแล้ว ผมเห็นอีกสองคนยังคงลงไม่ได้ ครูที่เป็นลีดเลยขึ้นไปช่วย ลงอีกทีก็มองไม่เห็นกลุ่มแรกแล้ว พยายามไต่ระดับลงไปเรื่อย ๆ มองดูที่ Dive Computer เอ ทำไมมันนานจัง 35 เมตรแล้วนะ
หา ! 35 เมตรแล้วยังเห็นพื้นอยู่ลิบ ๆ เลย ลงไปแตะคง 70 เมตรได้ ทำยังไงดี ครูจะพาเราไปไหนนะ ลงที่พื้นได้หรือ สุดท้ายก็ขึ้นที่ผิวน้ำครับ มันอันตรายเกินไป
นั่นคือ Deep dive แรก เลยครับ ที่โดนน้ำพัดพาออกไป จากนั้นก็ขึ้นเรือครับ แล้วเรือเข้าไปส่งข้างในเกาะให้ดำน้ำต่อเนื่องเลย
ไดฟ์สองที่ติด Decom
ผมใส่ Dive computer แต่ไม่ค่อยได้สังเกตเลย เลข No Decompression time (NDL) นี่ครับ ในไดฟ์สองดำไปเรื่อย ๆ เจอปลาหมึก เจอปลานั่นนี่ แต่มองที่ dive computer ที่ข้อมือของผมมันเหลือ NDL แค่ 8 นาที ไม่เป็นไร ครูนำเรายังไม่ขึ้น เราก็ไม่ขึ้น ช่างมัน เราน้อยครูก็น้อยเหมือนกันแหละว้า

No Deco Time คือตัวเลขที่บอกว่าเราจะอยู่ความลึกนี้ได้อีกนานเท่าไร ถ้าไม่อยากติด Decom ให้สังเกตตัวเลขนี้ไว้ด้วยนะครับ
ความไม่รู้นำมาสู่อันตราย
ในที่สุด Dive computer ผมก็ขึ้นข้อความว่า Error เอาละ ทำไมมันไม่ทำงานละ ผมเลยเอาไปให้ครูดู สรุปว่าติด Decom เรียบร้อย นั่นเป็นครั้งแรกเลยครับที่ติด Decompression และเข้าใจกับคำว่า No Deco Time (NDL) ตอนขึ้นมาพักน้ำก็ไม่มีอะไรนะครับ ไม่มีอาการแพ้ ผื่นแดง แบบที่เรียนมา
สงสัยว่าจะติด Decom
ก็ติดไปแล้วตาม Dive computer ฟ้องนี่นา แต่แรก ๆ ไม่เป็นอะไร แถมมีคนเจอหางฉลามวาฬไกล ๆ เรืออีก แต่ก็อดเห็นแบบเต็ม ๆ อาการมันเริ่มแสดงนิดหน่อย ตอนกำลังจะนั่งรถทัวร์กลับบ้าน คืออาการนิ้วก้อยมือขวาชา แต่เราก็คิดว่าคงปกติมั๊ง ไม่น่าจะมีอะไร
จนมาถึงกรุงเทพฯ เช้า มันก็ยังไม่หาย เอ เริ่มกังวลใจ เราจะเป็น DCS จริง ๆ หรอนี่ ทำยังไงดี เลยติดต่อครูกลับไป ครูให้เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่ท่านนึงมาเพื่อส่งตัวมารักษาที่ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ที่นี่เขามีห้อง chamber (ย่อมาจาก : ห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) นะ

ภาพถ่ายหน้าห้องแชมเบอร์ หรือปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) สำหรับแก้อาการโรคน้ำหนีบ
อย่าดำน้ำให้ติด Decom เลยไม่สนุกหรอก
ขั้นตอนการรักษาก็ไปทำบัตรคนไข้ แล้วก็ส่งตัวไปตรวจ จากนั้นคุณหมอก็มาซักถามอาการ อ่อ จะบอกว่า ถ้ามี dive computer เอาไปด้วยก็ดีนะครับ เค้าจะสอบถามอาการว่า เราไปดำมายังไง ดำเกินบัตรดำน้ำของเราไหม เกิดอะไรขึ้นยังไงกี่โมง พอประเมินแล้วว่าติด DCS ก็ทำเรื่องส่งตัวไปเข้าห้อง Chamber ต่อไป
ก่อนจะเข้าทำการรักษา จะมีแบบทดสอบซึ่งผมคิดว่าเป็นการทดสอบ เกี่ยวกับร่างกาย และระบบประสาทของเรา ทดลองบวกเลขด้วย ผมก็กำลังเพลีย ๆ และบวกลบเลขไม่เก่ง ดันคิดไม่ค่อยออกอีก
ไปดำน้ำกันอีกครั้งแบบแห้งในห้อง Chamber
การรักษาในห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) นั้น ก็เหมือนกับเราไปดำน้ำใหม่ที่ 18 เมตรอีกครั้ง แต่ไม่สนุกเหมือนตอนไปดำแน่ ๆ ครับ เพราะเรานั่ง ๆ นอน ๆ ไปไหนก็ไม่ได้ ต้องนอนดมออกซิเจนตลอดเวลา ออกไปฉี่ก็ไม่ได้ ไม่สนุกเหมือนตอนดำน้ำเลย และที่สำคัญใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ผมเข้าไปตั้งแต่บ่ายโมง ออกมาอีกทีฟ้ามืดเลยทุ่มกว่า
ผลการรักษาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากที่นอนสูดออกซิเจน 100% ในห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) แล้ว อาการชาที่ปลายนิ้วก็ค่อย ๆ หายไปจนเกือบหมดสิ้น มีเหลือ 2-3 มม.ในวันนั้น ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็หายไปเอง
น่ากลัวกว่าการติด Decom ก็ค่ารักษาในห้อง Chamber นี่แหละครับ
ค่ารักษาห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) นั้น สูงขนาดไปดำน้ำที่มัลดีฟแบบหรู ๆ กันได้เลยทีเดียว วันนั้นก็ประมาณ 100,000 กว่าบาท แต่ต้องขอบคุณคุณหมอ และเจ้าหน้าที่ที่มานั่งอยู่รอ เพื่อรักษาเรา และทำเรื่องฉุกเฉินให้ดังนั้นค่ารักษาทั้งหมดเลย ไม่มีครับ แต่ก็คงไม่ได้โชคดีแบบนี้ทุกครั้งครับ
หลังจากนั้น เวลาผมไปทริป นอกจากดูไดฟ์คอมของตัวเองไม่ให้ติดดีคอมแล้ว ก็จะพยายามดูของคนอื่นด้วย เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเจอแบบที่เราเจอ ให้เขาได้ดำน้ำแบบสนุกสนานดีกว่า และอ่านจากประสบการณ์ของเราแทน
หวังว่าประสบการณ์นี้จะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ท่านที่ได้อ่านนะครับ ขอให้ดำน้ำอย่างสนุกและระวังเรื่อง No Deco Time (NDL) กันด้วยนะครับ
หมายเหตุ :
- No Decompression DIve time (NDL) จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อดำลึกมากกว่า 10 เมตรขึ้นไป แล้วแต่ระบบคำนวณของไดฟ์คอมแต่ละตัว
- การใช้ Dive Computer เป็นระบบการคำนวณหาไนโตรเจนตามความลึกที่ลงไปแบบสมมติฐานเท่านั้น ไม่ได้วัดจริง จากเซลล หรือแก๊สที่ละลายอยู่ภายในร่างกาย
- เมื่อถึงจุดทำ safety stop ที่ 5 เมตร 3 นาที ควจจะหยุดทำ ไม่ควรละเลย และถ้ามี deep stop 1 นาที ก็ควรทำเช่นกัน
- ยิ่งดำลึก ต้องดู NDL ที่ Dive Computer บ่อย ๆ
- เวลาขึ้นควบคุมความเร็วการขึ้นด้วย ไม่เกิน 9 เมตรต่อนาที หรือดูที่ไดฟ์คอมพิวเตอร์อย่าให้ร้อง ขึ้นช้า ๆ ดีที่สุด
- ถ้าติดดีคอมแล้ว ไม่ควรลงไปดำน้ำอีก ควรขอดม Oxygen ทันที และสังเกตอาการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อ ครูบอย
website : https://www.diveinfinity.com
Line ID : @diveinfinity
Facebook : https://www.facebook.com/diveinfinityclub
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCdvxwn4VyAs9d4RuxzoW0Ag